การศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับการง่วงหลับขณะขับรถเปรียบเทียบกับเครื่องตรวจการนอนหลับมาตรฐาน

Comparative study on the effectiveness of driver drowsiness detection with the standard polysomnography in the sleepiness detection

          การง่วงหลับเป็นอาการนำที่สื่อถึงความอ่อนล้าของร่างกาย เมื่ออาการดังกล่าวปรากฏขึ้นแสดงถึงความต้องการการพักผ่อนโดยเฉพาะการนอนหลับ เพื่อฟื้นคืนสภาพที่เป็นปกติของร่างกาย จิตใจและอารมณ์ตลอดจนประสิทธิภาพการทำงาน หากร่างกายไม่ได้รับการสนองตอบที่เหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ดังกล่าว ยังอาจนำไปสู่การง่วงนอนขั้นวิกฤตเฉียบพลันโดยผู้มีอาการอาจไม่ทันตั้งตัวคือ “การหลับใน” ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากผู้นั้นไม่ได้มีการเตรียมพร้อม ตลอดจนอยู่ในสถานะหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงภัย

          จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ แต่อุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่พบว่ามาจากการง่วงแล้วขับหรือเกิดการหลับในและมีแนวโน้มสูงขึ้น แนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถอันเนื่องมาจากการง่วงหลับ คือการแจ้งเตือนแก่ผู้ขับรถในขณะที่กำลังเกิดอาการง่วง ด้วยการใช้เสียงเตือนหรือใช้ไฟสัญญาณเตือน เพื่อให้ผู้ขับรถได้รับทราบ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้แก้ไขอาการง่วงนั้นอย่างทันท่วงที  ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้การประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็วและมีสมรรถนะสูงขึ้นมาก เช่น การใช้เทคนิคและวิธีการทางปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent Techniques) หรือเครือข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) มาทำการประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการตรวจจับ ใบหน้าและดวงตาและการหาอัตราการกระพริบของเปลือกตาสำหรับระบบเฝ้าติดตามอาการง่วงหลับขณะขับรถที่ถูกต้องและแม่นยำ อย่างไรก็ตาม การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องนำสายของอุปกรณ์นี้ไปติดที่ศีรษะผู้ขับรถเพื่อวัดคลื่นสมองของมนุษย์จึงอาจจะยังไม่สะดวกต่อการใช้งานเท่าที่ควร

          การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับการง่วงหลับตั้งแต่ระยะเริ่มแรกชนิดพกพา โดยเครื่องมือนี้จะทำการเฝ้าสังเกตการกระพริบตาในข้อมูลภาพ และเมื่อตรวจพบอาการง่วงหลับดังกล่าวก็จะทำการแจ้งเตือนแก่บุคคลนั้น เพื่อให้เปลี่ยนอิริยาบถหรือหยุดพักการขับรถชั่วคราว ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป คณะผู้วิจัยได้ออกแบบการวิจัยเชิงทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับการง่วงหลับชนิดพกพาเปรียบเทียบกับเครื่องตรวจการนอนหลับมาตรฐาน (polysomnography) โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 : ทำการศึกษานำร่อง (pilot study) ดำเนินการในห้องทดลองเพื่อพัฒนาอุปกรณ์การเตือนการง่วงหลับชนิดพกพา
  • ระยะที่ 2 : ทำการทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพอุปกรณ์การเตือนการง่วงหลับชนิดพกพากับเครื่องตรวจการนอนหลับมาตรฐาน
  • ระยะที่ 3 : การประเมินความพึงพอใจในการใช้งานอุปกรณ์การเตือนการง่วงหลับชนิดพกพา