ประสบการณ์การเคยโดนรังแกของหญิงข้ามเพศในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
Bullying Experiences of Transgender Women in Chiang Mai Thailand
ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจนกระทั่งทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้โดยผ่านทางโซเซียลมีเดียหลากหลายประเภท อาทิเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป หรือไลน์ ช่องทางเหล่านี้ทำให้ผู้คนได้รับข้อมูลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และทำให้ทราบว่าปัญหาการรังแกกัน (bully) ยังมีอยู่มาก เพียงแต่เป็นข่าวทางทีวีบางข่าวเท่านั้น โดยปัญหาการรังแกกันถือเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากปัญหาหนึ่ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อีกทั้งเป็นพฤติกรรมที่สามารถพบเห็นได้ทุกที่ แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ซึ่งลักษณะของการรังแกนั้นจะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ โดยในทางทฤษฎีการรังแกหมายถึงการกระทำทางกาย วาจา สังคม หรือเพศ และรวมไปถึงการกระทำผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งฝ่ายที่กระทำนั้นมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง การกระทำนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเจ็บปวดและเสียหายต่อฝ่ายที่ถูกกระทำ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการรังแกที่ต่อเนื่องไม่ใช่เพียงครั้งเดียวจบ การถูกกระทำเช่นนี้มีความเสี่ยงให้ผู้โดนรังแกเกิดความไม่กล้าแสดงออก ย้ายโรงเรียน และผลกระทบอื่น ๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง เช่นกลายเป็นโรคซึมเศร้า การทำร้ายตัวเอง การพยายามฆ่าตัวตาย ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV หรือแม้กระทั่งอาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ บุหรี่ หรือยาเสพติด ขณะที่งานวิจัยของประเทศไทยยังไม่พบการศึกษาที่มุ่งเน้นไปถึงประสบการณ์การโดนรังแกของหญิงข้ามเพศ ซึ่งว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เห็นได้ชัดจากสังคมภายนอก
การศึกษาในครั้งนี้จึงสนใจที่จะศึกษาประสบการณ์การโดนรังแกของหญิงข้ามเพศ ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะทราบถึงผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ จากการโดนรังแกที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาของกลุ่มบุคคลหญิงข้ามเพศ และเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาการโดนรังแกของหญิงข้ามเพศต่อไป โดยเป็นความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิเอ็มพลัส (MPlus) และองค์กรภาคี ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการป้องกันเอชไอวี (HIV) โรคเอดส์ (AIDS) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงด้านสุขภาพทางเพศ และสิทธิทางเพศ ในกลุ่มผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ USAID (United States Agency for International Development) โดยจะทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากหญิงข้ามเพศที่มีการติดต่อกับเครือข่ายมูลนิธิเอ็มพลัสและองค์กรภาคีและทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
- ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ | คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chiang Mai University)
- มูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus Thailand)