ผลกระทบของการศัลยกรรมแปลงเพศต่อคุณภาพชีวิตของหญิงข้ามเพศในประเทศไทย
Effects of Sex Reassignment Surgery on Quality of Life in
Transgender Women in Thailand
สังคมในปัจจุบันประกอบไปด้วยเพศที่หลายหลาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ความหลากหลายนี้ให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในลักษณะการเปลี่ยนแปลงเพศที่มีมาแต่กำเนิด (Sexual Identity) หรือการทำศัลยกรรมแปลงเพศ (Sex Reassignment Surgery) ให้กลายเป็นอีกเพศหนึ่งตามที่ตนเองต้องการแสดงบทบาทในเพศนั้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ในทางการแพทย์นั้นถือว่าการศัลยกรรมแปลงเพศเป็นการรักษาผู้ที่มีความผิดปกติของการรับรู้เพศ (Gender Identity Disorder) เพื่อสร้างลักษณะภายนอกให้สอดคล้องกับสภาพจิตใจที่สะท้อนออกมา (Gender Identity)
ในปัจจุบันประเทศไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างมากในระดับนานาชาติทางด้านการศัลยกรรมแปลงเพศ เนื่องจากได้รักษาในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ในราคาไม่สูงและได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ จนก่อให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อการศัลยกรรมแปลงเพศ อย่างไรก็ตามภายหลังการศัลยกรรมแปลงเพศ หญิงข้ามเพศจะต้องดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงสุขภาพทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การดูแลอวัยวะสืบพันธุ์ การขยายและขมิบช่องคลอด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้ฮอร์โมนเพศอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำหรับสุขภาพด้านจิตใจของหญิงข้ามเพศ จะต้องเผชิญหน้ากับครอบครัว เพื่อน สังคมที่ทำงาน คู่รักหรือแฟน หรือแม้กระทั่งบุคคลภายนอกที่มองมา ไม่ว่าจะเป็น การยอมรับ การสนับสนุน หรือการปฏิเสธ การไม่ให้ความสำคัญ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความรู้สึก บทบาทและความสัมพันธ์ของหญิงข้ามเพศในสังคม
การศึกษาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาผลกระทบของการศัลยกรรมแปลงเพศที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของหญิงข้ามเพศ และเปรียบเทียบกับหญิงข้ามเพศที่ต้องการศัลยกรรมแปลงเพศในประเทศไทย ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และสภาพแวดล้อม เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มหญิงข้ามเพศที่ต้องการศัลยกรรมแปลงเพศได้เข้าใจ และนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังได้แนวทางที่จะนำไปพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของหญิงข้ามเพศต่อไป
โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธิเอ็มพลัส (MPlus) ร่วมกับองค์กรภาคี ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการป้องกันเอชไอวี (HIV) โรคเอดส์ (AIDS) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงด้านสุขภาพทางเพศ และสิทธิทางเพศ ในกลุ่มผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ USAID (United States Agency for International Development) โดยจะทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากหญิงข้ามเพศที่มีการติดต่อรับบริการจากเครือข่ายของมูลนิธิเอ็มพลัส และทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวของกับงานวิจัย
- ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ | คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chiang Mai University)
- มูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus Thailand)