การจำแนกมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในตับโดยรังสีแพทย์และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผลภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ “HCC-ICC CT based classifier”

Classification of hepatocellular and intrahepatic cholangiocarcinoma by radiologist using CT-image processing based software “HCC-ICC CT based classifier”

          จากสถิติที่รวบรวมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในประเทศไทย มะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด ในเพศชายและพบมากเป็นอันดับสอง ในเพศหญิง เป็นสาเหตุการตายอันดับสามในเพศชาย และอันดับหกในเพศหญิงของสาเหตุการตายจากมะเร็งทั้งหมด Hepatocellular carcinoma (HCC) เป็นมะเร็งปฐมภูมิที่พบมากที่สุดของตับ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ไวรัสตับอักเสบบี และซี การดื่มสุราและภาวะตับแข็ง วิธีการรักษามะเร็ง HCC ที่สามารถหวังผลให้หายขาด (curative treatment) ที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัด (surgical resection) แต่มีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย HCC เท่านั้นที่อยู่ในสภาพเหมาะสมต่อการผ่าตัดรักษา

          มะเร็งท่อน้ำดี พบมากเป็นอันดับ 2 ในตับ ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ (Intrahepatic cholangiocarcinoma: ICC) เป็นโรคที่มักถูกวินิจฉัยผิดว่า เป็นมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma: HCC) เพราะตับโตและมีก้อนที่ตับ แต่มะเร็งท่อน้ำดีนี้ เกิดจาก เซลล์ของเยื่อบุท่อน้ำดีในตับ พบในผู้ป่วยชายมากกว่าผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์สูงที่สุดในโลกที่ภาคตะวันออก- เฉียงเหนือของประเทศไทย มีการศึกษาพบว่ามะเร็งท่อน้ำดีในตับมีความสัมพันธ์กับภาวะตับแข็งเช่นเดียวกันกับมะเร็งตับ อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งท่อน้ำดีในตับมีทางเลือกในการรักษา น้อยกว่ากรณีที่เป็นมะเร็งตับ สามารถรักษาโดยใช้วิธีการผ่าตัด การฉายแสงและการใช้เคมีบำบัด ซึ่งสูตรยาที่ใช้ในการรักษาก็จะแตกต่างกันไป ดังนั้นการจำแนกมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในตับออกจากกันอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          นอกจากการศึกษาค้นหา tumor marker ที่ช่วยวินิจฉัย ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยและจำแนกมะเร็งตับ (HCC) และมะเร็งท่อน้ำดีในตับ (ICC) โดยการวินิจฉัยจากภาพถ่ายทางรังสีวิทยาโดยรังสีแพทย์ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของการวินิจฉัยยังไม่เทียบเท่าการวินิจฉัยจากชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ เพราะอาจขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้วินิจฉัยและยังมีปัจจัยอื่น เช่น ขนาดของก้อนมะเร็งและภาวะการเป็นตับแข็งของคนไข้ที่อาจทำให้ได้ผลการวินิจฉัยแตกต่างกันไป ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาวิธีการประมวลผลภาพ (Image processing) ของภาพถ่ายทางรังสีวิทยาเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยของรังสีแพทย์ในการจำแนกมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในตับให้มีความแม่นยำที่สุด

หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย

  1. ภาควิชารังสีวิทยา (Department of Radiology, Faculty of Medicine, Chiang Mai University
  2. ศูนย์ทะเบียนมะเร็งเชียงใหม่ (Chiang Mai Cancer Registry)
  3. วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (College of Arts, Media and Technology, Chiang Mai University)
  4. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (Maharaj Nakorn Chiang Mai Hospital)
  5. โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง (Lampang Cancer Hospital)