ความสัมพันธ์ระหว่างการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง
และขนาดและระยะโรคมะเร็งเต้านมของสตรีในประเทศไทย

The Association of Breast Self–Examination
and Breast Cancer Size and Stage among Women Living in Thailand

          มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของสตรีทั้งในไทยและทั่วโลกและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยความห่วงใยในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่มีต่อพสกนิกรไทยจึงทรงมีพระราชปณิธานในการดูแลสตรีไทยทุกคนให้พ้นภัยมะเร็งเต้านมและได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้ง “มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เพื่อดำเนินการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งเต้านม นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมาพบปัญหาว่าสตรีในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหาในการเข้าถึงการตรวจเต้านมด้วยวิธีที่ทันสมัย เช่น การตรวจเต้านมด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasound) หรือการตรวจเต้านมด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammogram) ดังนั้นทางมูลนิธิจึงมีจัดการส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self–examination) ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สตรีไทยสามารถตรวจเต้านมได้เองในเบื้องต้น ซึ่งระหว่างเข้าร่วมโครงการได้มีการบันทึกข้อมูลด้วยตนเองก่อนส่งให้อาสาสมัครสาธารณสุขเชียวชาญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันผลการตรวจ และส่งต่อให้แพทย์ทำการตรวจยืนยัน (Clinical breast examination) หากพบอาการผิดปกติเพื่อทำการรักษาต่อไป

          การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการประมาณอุบัติการณ์มะเร็งเต้านม และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสม่ำเสมอในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (อย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง) กับขนาดของก้อนมะเร็ง (Size) ระยะของโรค (Stage) ของมะเร็งเต้านมในสตรีไทย โดยได้ดำเนินการในสตรีไทยอายุ 30–70 ปี ในพื้นที่ 21 จังหวัดทั่วประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2555 และทำการติดตามตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความสม่ำเสมอในการการตรวจเต้านมด้วยตนเองกับขนาดก้อนมะเร็งเต้านมและระยะโรคในแต่ละจังหวัด รวมถึงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในภาพรวมและเปรียบเทียบความแตกต่างของแต่ละพื้นที่

หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย

  1. โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม (Breast Foundation Under The Patronage of Her Royal Highness The Princess Mother)
  2. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (College of Public Health Sciences Chulalongkorn University)
  3. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (Department of Health, Ministry of Public Health)
  4. ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง เชียงใหม่ (Chiang Mai Cancer Registry)
  5. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Faculty of Medicine, Chiang Mai University)